โครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลด ปี 2565-2566
ความเป็นมาโครงการฯ
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการดำเนินการตอบสนองด้านโหลดแบบชั่วคราว (Temporary Demand Response) ตามสถานการณ์ฉุกเฉินเช่น เหตุการณ์หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เป็นต้นแต่ทิศทางการพัฒนาการตอบสนองด้านโหลดของประเทศไทยในอนาคต จะมุ่งพัฒนาให้เกิดธุรกิจการตอบสนองด้านโหลด และดำเนินการสั่งเรียกการตอบสนองด้านโหลดแบบถาวร (Permanent DR) โดยจะกำหนดเป้าหมาย DR ลงในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan : PDP) เพื่อทดแทนการสร้างโรงไฟฟ้าและทดแทนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในบางช่วงเวลา ซึ่งการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response : DR) สอดคล้องกับเสาหลักที่ 1: การตอบสนองด้านโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน (DR & Energy Management System : EMS) ของแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทยในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการใช้งานการตอบสนองด้านโหลดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าและสามารถนำ การตอบสนองด้านโหลด (DR) มาทดแทนโรงไฟฟ้าในแผน PDP ได้นั้น จำเป็นต้องเริ่มพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจเพื่อเตรียพร้อมในการพัฒนาความสามารถในการรวบรวมโหลดในอนาคต กระทรวงพลังงาน จึงได้จัดทำ “โครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลด ในช่วงระหว่างปี 2565-2566 ในปริมาณเป้าหมาย 50 MW” โดยใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 97 (4) สำหรับโครงการนำร่องฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน และเป็นการทดสอบนำร่องการใช้งานจริงระหว่าง 3 การไฟฟ้า ก่อนขยายผลต่อไป
โดยโครงการนำร่องฯ จะใช้โปรแกรมการตอบสนองด้านโหลดในรูปแบบ Firm (Commit Capacity DR Program)เพื่อเป็นการทดสอบการลดใช้ไฟฟ้าเมื่อมีการร้องขอซึ่งหาก DR สามารถนำมาใช้ได้จริงในอนาคตจะสามารถทดแทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูงสุด โดยรูปแบบการจ่ายผลตอบแทน DR แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
- ค่าความพร้อมในการลดการใช้ไฟฟ้า (Available Payment : AP) คือ ค่าตอบแทนแบบคงที่ (Fixed) มีหน่วยเป็น บาท/kW/เดือน ประเมินจากการนำ DR ไปทดแทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทกังหันก๊าซ (Peaking Plant)
- ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ลดได้ (Energy Payment : EP) คือ ค่าตอบแทนตามหน่วยไฟฟ้าที่ลดการใช้ไฟฟ้าจริง มีหน่วยเป็น บาท/kWh
โดยแปรผันตามต้นทุนต่อหน่วยของโรงไฟฟ้าที่ถูกทดแทนด้วยโปรแกรม DR
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลด ปี 2565-2566 โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนำร่อง DR ให้ประสบผลสำเร็จ โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนเสมือนจริง พร้อมทั้งทำการประเมินผลโครงการ DR และรายงานผลต่อ กพช. ทราบเป็นระยะๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมขยายผลตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะปานกลาง (ปี 2565 – 2574) ต่อไป
- มอบ สนพ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลด ปี 2565-2566 โดยใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97 (4) แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผลตอบแทน DR แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารและติดตามประเมินผลโครงการ
ประกาศรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ
ระยะที่ 2 ในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเข้าร่วมโครงการนำร่องฯ จำนวน 9 เดือน (ระหว่างเดือนเมษายน – ธันวาคม 2566)
ประกาศรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ
ระยะที่ 1 ในเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2565 เพื่อเข้าร่วมโครงการนำร่องฯ จำนวน 12 เดือน (ระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2566)
ลงนามความร่วมมือโครงการนำร่องฯ
สนพ. ลงนาม MOU กับสำนักงาน กกพ. เพื่อขอรับเงินสนับสนุนจาก
กองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯ โครงการนำร่องฯ ลงวันที่ 22 ก.ค. 2565
สนพ. ลงนาม MOA โครงการนำร่องฯ กับ กฟผ. กฟน. และ กฟภ.
ลงวันที่ 4 ส.ค. 2565
สนพ. แต่งตั้งคณะทำงาน DR 5 หน่วยงาน
สนพ. แต่งตั้งคณะทำงาน DR ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ประกอบด้วย สนพ. สำนักงาน กกพ. กฟผ. กฟน. และ กฟภ. เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนำร่องฯ ให้ประสบผลสำเร็จ โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนเสมือนจริง พร้อมทั้งทำการประเมินผลโครงการนำร่องฯ
กพช. เห็นชอบ โครงการนำร่องฯ
เห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 และมอบหมายให้ 5 หน่วยงาน ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนำร่องฯ ให้ประสบผลสำเร็จ โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนเสมือนจริง พร้อมทั้งประเมินผลโครงการนำร่องฯใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯ