เทคโนโลยีการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response: DR) เป็นทางเลือกลำดับแรก ๆ ที่มีต้นทุนต่ำในการเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น สามารถใช้งานเป็นผลิตภัณฑ์ในระบบไฟฟ้าให้กับระบบไฟฟ้าได้หลากหลาย ทั้งในส่วนกำลัง ผลิตไฟฟ้า (Capacity) และพลังงานไฟฟ้า (Energy) ในระยะแรก และสำหรับแผนระยะยาว จะดำเนิน การในส่วนข้อจำกัดของระบบส่งและระบบจำหน่าย (T&D Constraint) การเสริมความสมดุลระบบ (Balancing) การจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน (Contingency Event Management) และบริการเสริมความมั่งคง (Ancillary Service) ต่าง ๆ ซึ่งมีความต้องการการตอบสนองด้านโหลดที่รวดเร็ว (Fast Response DR) และ มีความพึ่งพาได้สูง

การดำเนินงานด้านการตอบสนองด้านโหลดที่ผ่านมาของประเทศไทยเป็นการตอบสนองด้านโหลดแบบชั่วคราว (Temporary DR) เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น โดยเป็นการดำเนินงานในลักษณะการขอความร่วมมือจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรการเชิงบังคับจึงส่งผลให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือประสบผลสำเร็จมากนัก ดังนั้น ในการพัฒนา การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองด้านโหลดของประเทศไทยภายใต้แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะ ปานกลาง จึงมุ่งเน้นทิศทางให้เกิดเป็นธุรกิจการตอบสนองด้านโหลดและดำเนินการสั่งเรียกการตอบสนอง ด้านโหลดแบบถาวร (Permanent DR) โดยจะทำการกำหนดเป้าหมายการตอบสนองด้านโหลดให้เป็น ส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (แผน PDP) เพื่อให้สามารถนำไปทดแทน การก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงทดแทนการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าในบางช่วงเวลา

ทั้งนี้ เพื่อให้การตอบสนองด้านโหลดแบบถาวรเกิดขึ้นได้ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีทรัพยากร ด้านการตอบสนองด้านโหลดเป็นจำนวนมาก ซึ่งการตอบสนองด้านโหลดแบบสั่งการด้วยคน (Manual) หรือ แบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-auto DR) ที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดทั้งในแง่ของความรวดเร็วและ ความแน่นอนในการตอบสนอง รวมถึงผู้ใช้ไฟฟ้าที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้จำกัดอยู่เพียงผู้ใช้ไฟฟ้า จำนวนหนึ่งเท่านั้น การเพิ่มทรัพยากรด้านการตอบสนองด้านโหลดให้มากขึ้นจำเป็นต้องขยายฐานผู้เข้าร่วมมาตรการไปยังกลุ่มครัวเรือนซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีการตอบสนองด้านโหลดแบบอัตโนมัติ (Automated Demand Response) เป็นเครื่องมือในการรวบรวมโหลดไฟฟ้าขนาดเล็กแต่มีจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว

โดยการตอบสนองด้านโหลดแบบอัตโนมัติเป็นการสั่งการแบบอัตโนมัติในทุกขั้นตอน หลังจากที่ ผู้ดูแลระบบไฟฟ้าออกคำสั่งร้องขอการตอบสนองด้านโหลดผ่านระบบสื่อสารมายังคอมพิวเตอร์ลูกข่าย เพื่อส่งคำสั่งต่อไปยังระบบควบคุมของผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผ่านระบบสื่อสารไปยังระบบควบคุมของผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง เพื่อปิดหรือปรับการทำงานของกระบวนการผลิตหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ผ่านระบบบริหาร จัดการพลังงานหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าโดยอัตโนมัติตามรูปแบบที่มีการตกลงกัน ซึ่งการดำเนินงานในรูปแบบอัตโนมัติเช่นนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในการเข้าร่วมมาตรการการตอบสนองด้านโหลด และยังเสริมความยืดหยุ่นให้แก่ระบบไฟฟ้าในปริมาณมากและรวดเร็วอีกด้วย