ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการดำเนินการตอบสนองด้านโหลดแบบชั่วคราว (Temporary Demand Response) ตามสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น แต่ทิศทางการพัฒนาการตอบสนองด้านโหลดของประเทศไทยในอนาคต จะมุ่งพัฒนาให้เกิดธุรกิจการตอบสนองด้านโหลด และดำเนินการสั่งเรียกการตอบสนองด้านโหลดแบบถาวร (Permanent DR) โดยจะกำหนดเป้าหมาย DR ลงในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan : PDP) เพื่อทดแทนการสร้างโรงไฟฟ้าและทดแทนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในบางช่วงเวลา ซึ่งการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response : DR) สอดคล้องกับเสาหลักที่ 1: การตอบสนองด้านโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน (DR & Energy Management System : EMS) ของแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทยในระยะสั้น พ.ศ. 2560 – 2564

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการใช้งานการตอบสนองด้านโหลดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และสามารถนำการตอบสนองด้านโหลด (DR) มาทดแทนโรงไฟฟ้าในแผน PDP ได้นั้น จำเป็นต้องเริ่มพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนาความสามารถในการรวบรวมโหลดในอนาคต กระทรวงพลังงานจึงได้จัดทำ “โครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลด ในช่วงระหว่างปี 2565-2566 ในปริมาณเป้าหมาย 50 MW” โดยใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 97(4) สำหรับโครงการนำร่องฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน และเป็นการทดสอบนำร่องการใช้งานจริงระหว่าง 3 การไฟฟ้า ก่อนขยายผลต่อไป

เนื่องจากเป็นโครงการนำร่องฯ จะใช้โปรแกรมการตอบสนองด้านโหลดในรูปแบบ Firm (Commit Capacity DR Program) เพื่อเป็นการทดสอบการลดใช้ไฟฟ้าเมื่อมีการร้องขอ ซึ่งหาก DR สามารถนำมาใช้ได้จริงในอนาคตจะสามารถทดแทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูงสุด โดยรูปแบบการจ่ายผลตอบแทน DR แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่

ค่าความพร้อมในการลดการใช้ไฟฟ้า (Available Payment : AP) คือ ค่าตอบแทนแบบคงที่ (Fixed) มีหน่วยเป็นบาท/kW/เดือน ประเมินจากการนำ DR ไปทดแทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทกังหันก๊าซ (Peaking Plant)
ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ลดได้ (Energy Payment : EP) คือ ค่าตอบแทนตามหน่วยไฟฟ้าที่ลดการใช้ไฟฟ้าจริง มีหน่วยเป็นบาท/kWh โดยแปรผันตามต้นทุนต่อหน่วยของโรงไฟฟ้าที่ถูกทดแทนด้วยโปรแกรม DR